วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

ประเพณีสงกรานต์

  • ประวัติวันสงกรานต์
  • ตำนานนางสงกรานต์
  • ความหมายของวันสงกรานต์ 
  • ประวัติประเพณีวันสงกรานต์แต่ละภาค
  • กิจกรรมและข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์
ประวัติวันสงกรานต์   
          สำหรับคำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤตว่า "สํ-กรานต" ซึ่งแปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือการย้ายที่ เคลื่อนที่ โดยหมายความอีกนัยนึงว่า เป็นการเข้าสู่ศักราชราศีใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง ส่วนเทศกาลสงกรานต์นั้น เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนไทยสืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณคู่กันมากับประเพณีตรุษจีน จึงมีการเรียกรวมกันว่า "ประเพณีตรุษสงกรานต์" ซึ่งหมายถึง ประเพณีส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ นั่นเอง
          ทั้งนี้ วันหยุดสงกรานต์ เป็นวันหยุดราชการ แบ่งออกเป็น 3 วัน ได้แก่ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันมหาสงกรานต์, วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา, วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก ส่วนกิจกรรมหลัก ๆ ที่ทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ก็จะเป็นการทำความสะอาดบ้านเรือน การร่วมกันทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำของพรผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำคลายร้อนกัน เป็นต้น 

วันสงกรานต์

วันสงกรานต์
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวันสงกรานต์  
          ในสมัยโบราณ คนไทยถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งตกราว ๆ เดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะถือว่าเป็นช่วงฤดูหนาว ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ให้เป็นวันที่ 1 เมษายน แต่เมื่อในยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ปี พ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนวันปีใหม่ให้เป็นสากล คือวันที่ 1 มกราคม แต่กระนั้น คนไทยส่วนมากก็คุ้นเคยกับวันปีใหม่ไทยในเดือนเมษายน จึงกำหนดให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทิน เกรกอรี่
          นอกจากประเทศไทยได้ถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่แล้ว รู้หรือไม่ว่า ประเทศมอญ พม่า ลาว  ก็นำเอาวันดังกล่าว เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของเขาด้วยเช่นกัน

วันสงกรานต์

วันสงกรานต์
          สำหรับภาษาและความเชื่อของวันสงกรานต์ในแต่ละภาคก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ดังนี้ ...
ประเพณีสงกรานต์ภาคกลาง 
          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์และเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ
          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเนา" ซึ่งในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ประกาศให้เป็นวันครอบครัว
          วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันเถลิงศก" คือวันเริ่มจุลศักราชใหม่ 

ประเพณีสงกรานต์ภาคเหนือ 

          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันสังขารล่อง" ซึ่งมีความหมายว่า อายุสิ้นไปอีกปี
          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันเน่า" เป็นวันห้ามพูดจาหยาบคาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้ปากเน่าและไม่เจริญ
           วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันพญาวัน" คือวันเปลี่ยนศกใหม่

ประเพณีสงกรานต์ภาคใต้ 
   
          วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า "วันเจ้าเมืองเก่า"  หรือ "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" เพราะเชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์
          วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า "วันว่าง" คือวันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ชาวบ้านก็จะงดงานอาชีพต่าง ๆ แล้วไปทำบุญที่วัด
          วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า "วันรับเจ้าเมืองใหม่" คือวันรับเทวดาองค์ใหม่ที่ได้รับมอบหมายให้มาดูแลเมืองแทนองค์เดิมที่ย้ายไปประจำเมืองอื่น
          คำว่า "ดำหัว" ปกติแปลว่า "สระผม" แต่ประเพณีสงกรานต์ล้านนา หมายถึง การแสดงความเคารพ และขออโหสิกรรมที่ตนอาจจะเคยล่วงเกิน รวมทั้งขอพรจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นญาติผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ครูบาอาจารย์ หรือผู้บังคับบัญชา ส่วนมากจะใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยนำไปไหว้ และผู้ใหญ่ก็จะจุ่มเอาน้ำแปะบนศีรษะก็เป็นอันเสร็จพิธี 

วันสงกรานต์

วันสงกรานต์

วันสงกรานต์

วันสงกรานต์
          อย่างไรก็ตาม พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกครอบครัว หรือชุมชนบ้านเรือนละแวกใกล้เคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัย และค่านิยม จากเดิมชาวบ้านจะใช้น้ำเป็นตัวแทนในการประกอบพิธีสำคัญต่าง ๆ โดยถือว่า น้ำจะแก้ความร้อนของฤดูร้อน และใช้ช่วงเวลาดังกล่าวขอพรจากผู้ใหญ่ รวมไปถึงระลึกบุญคุณต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ส่วนประเพณีสงกรานต์ในสมัยใหม่นั้น จะเป็นประเพณีกลับบ้านเกิดเสียมากกว่า หรือถือว่าเป็นวันครอบครัว

ตำนานนางสงกรานต์

          สำหรับเรื่องราวความเป็นมาของนางสงกรานต์นั้น มีบันทึกไว้บนจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีเศรษฐีคนหนึ่งรวยทรัพย์แต่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุล โดยบ้านของเศรษฐีคนนี้ตั้งอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีที่ไม่มีบุตร จนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้บวงสรวงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร แต่แม้ว่าเศรษฐีจะตั้งจิตอธิษฐานอยู่นานกว่าสามปี ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีบุตร
          กระทั่ง วันหนึ่งเป็นช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมน้ำ พอไปถึงก็ได้นำข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาในต้นไทรนั้น รุกขเทวดาเห็นใจเศรษฐีจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานเทพบุตรให้องค์หนึ่งนาม "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าเทพบุตรก็คลอดออกมา เศรษฐีจึงตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า "ธรรมบาลกุมาร" และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย
          เวลาผ่านไป ธรรมบาลกุมาร โตขึ้นได้เรียนรู้ภาษานก และเมื่ออายุเจ็ดขวบ ก็ได้เรียนไตรเภทจบ ธรรมบาลกุมาล จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่งท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมาร เสีย ซึ่งปัญหาที่ท้าวกบิลพรหมถามธรรมบาลกุมาร ก็คือ "ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน"
          เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ไม่สามารถตอบได้ จึงขอผัดผ่อนท้าวกบิลพรหมไปอีก 7 วัน ระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ได้พยายามคิดหาคำตอบ กระทั่งล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล โดยคิดว่า หากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม
          นับเป็นโชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ และบังเอิญบนต้นไม้มีนกอินทรี 2 ตัว ผัวเมียเกาะทำรังอยู่ ธรรมบาลกุมารจึงได้ยินนกสองตัวผัวเมียสนทนากัน โดยนางนกอินทรีถามสามีว่า พรุ่งนี้จะไปหาอาหารแห่งใด สามีได้ตอบนางนกไปว่า เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมฆ่า เพราะตอบปัญหาไม่ได้ นางนกจึงถามว่าคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้ สามีจึงเฉลยว่า ตอนเช้าศรีจะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุก ๆ เช้า ตอนเที่ยงศรีจะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็นศรีจะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน 
          เมื่อได้ยินดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ได้จดจำสิ่งที่สามีนกพูดไว้ กระทั่งวันรุ่งขึ้น ธรรมบาลกุมาร ได้นำคำตอบดังกล่าวไปตอบกับท้าวกบิลพรหม เมื่อท้าวกบิลพรหมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ตามคำท้าไว้ แต่ปัญหาก็คือ พระเศียรของพระองค์หากตกไปอยู่ที่ใด ก็จะเป็นอันตรายต่อที่นั้น อย่างเช่น หากตั้งเศียรไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้โลก แต่ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศฝนก็จะแล้ง หรือถ้าจะทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง 
          ด้วยเหตุนี้ ท้าวกบิลพรหม จึงมอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร โดยให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต เป็นผู้เริ่มต้น ซึ่งนางทุงษะก็เชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที จากนั้นปประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธชุลี ณ เขาไกรลาศ และเมื่อครบกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่งเวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของบิดาออกแห่ ทำเช่นนี้ทุก ๆ ปี และเนื่องจากเทพธิดาทั้ง 7 ปรากฏตัวในวันมหาสงกรานต์เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า "นางสงกรานต์" ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น นัยก็คือ พระอาทิตย์ เพราะกบิล หมายถึง สีแดง
          ทั้งนี้ ในแต่ละปี นางสงกรานต์ แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ และจะมีนาม อาหาร อาวุธ สัตว์ที่เป็นพาหนะต่าง ๆ กัน ดังนี้…


นางทุงษะเทวี 

           ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี
          คำทำนาย : ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ 
นางสงกรานต์

นางโคราคะเทวี

           ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา
          คำทำนาย : ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิง คุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา มักเกิดความไข้ต่างๆ และเกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ
นางสงกรานต์

นางรากษสเทวี

           ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอังคาร ชื่อ นางรากษสเทวี
          คำทำนาย : ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง แต่ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล

มณฑาเทวี

นางมณฑาเทวี


           ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพุธ ชื่อ นางมันทะ
          คำทำนาย : ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ

กิริณีเทวี นางสงกรานต์ปี 2554

นางกิริณีเทวี


           ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ
          คำทำนาย : ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม



นางกิมิทาเทวี


           ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันศุกร์ ชื่อ นางริญโท
          คำทำนาย : ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก
นางสงกรานต์

นางมโหธรเทวี

           ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์นาม มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี
          คำทำนาย : ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู
          อย่างไรก็ตาม ยังมีคำทำนายนางสงกรานต์ ที่ทำนายตามความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์ ดังนี้

           1.ถ้านางสงกรานต์ ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้
           2.ถ้านางสงกรานต์ นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ
           3.ถ้านางสงกรานต์นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข
           4.ถ้านางสงกรานต์นอนหลับตาพระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
สำหรับคำทำนายนางสงกรานต์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550-2557 มีดังนี้

 คำทำนาย นางสงกรานต์ ปี 2557

          วันมหาสงกรานต์ปี 2557 ตรงกับวันเสาร์ที่ 14 เมษายน 2557 นางสงกรานต์นาม "โคราคะเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหารน้ำมัน หัตถ์ขวาทรงขรรค์ หัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จยืน มาเหนือหลังพยัคฆ์ (เสือ) เป็นพาหนะ          โดย โคราคะเทวี มีคำทำนายไว้ว่า วันจันทร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ ประเทศจะทุกข์ยาก แพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง เกิดความเดือนร้อน คนเจ็บไข้
          วันอังคาร เป็นวันเนา หมากพลู ข้าวปลาจะแพง จะแพ้อำมาตย์มนตรีทั้งปวง
          วันพุธ เป็นวันเถลิงศก ราชบัณฑิต ปุโรหิตโหราจารย์ จะมีสุขสำราญเป็นอันมากแลฯ
          เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ เสาร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า
          เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ เตโช(ธาตุไฟ) น้ำน้อย อากาศยังร้อน  เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะเมีย นาคราชให้น้ำ 5 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีงาม กลางปีงาม และปลายปีก็งามแล
          เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแล

 คำทำนาย นางสงกรานต์ ปี 2556

          วันมหาสงกรานต์ปี 2556 ตรงกับวันเสาร์ที่ 13 เมษายน 2556 นางสงกรานต์นาม "มโหธรเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) มาบนหลังมยุรา (นกยูง)
          โดย มโหธรเทวี มีคำทำนายไว้ว่า วันเสาร์ เป็นวันมหาสงกรานต์ จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิง และโจรผู้ร้าย และจะเจ็บไข้นักแลฯ
          วันอาทิตย์ เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย จะได้ยินเสียงคนต่างภาษา ท้าวพระยาจะร้อนใจนักแลฯ
          วัน จันทร์ เป็นวันเถลิงศก พระราชเทวีและหมู่นางสนม ราชบริพาร จะประกอบไปด้วยสุขและสมบัติทั้งปวง, นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) : พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี
          เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ ศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า
          เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ อาโป (ธาตุน้ำ) น้ำมาก น้ำท่วม
          เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะเส็ง นาคราชให้น้ำ 1 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีมาก กลางปีงาม แต่ปลายปีน้อยแล
          เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแล

 คำทำนาย นางสงกรานต์ ปี 2555
          วันมหาสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2555 ตรงกับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน 2555 เวลา 19.46 น. 12 วินาที นางสงกรานต์ มีนามว่า "กิมิทาเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ หัตถ์ขวาทรงขรรค์ หัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร (นอนลืมตา) มาเหนือหลังมหิงส์ (กระบือ) เป็นพาหนะ ทำนายว่า ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข
          เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ พฤหัสบดี เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า
          เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ วาโย (ธาตุลม) น้ำพอประมาณ พายุจัด เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีมะโรง นาคราช ให้น้ำ 3 ตัว ทำนายว่า ฝนต้นปีมาก กลางปีงาม แต่ปลายปีน้อยแล
          เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในไร่นา จะเกิด กิมิชาติ คือ มีด้วงแมลงรบกวน ข้าวกล้า จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 5 ส่วน บ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกัน จะนิราชจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแล
          ทั้งนี้ วันมหาสงกรานต์ 2555 ตรงกับวันศุกร์ ทำนายว่า ข้าวน้ำ ลูกหมากรากไม้ทั้งหลายจะอุดม แต่จะแพ้เด็ก ฝนและพายุชุมจะเจ็บตากันมากนักแลฯ
          วันเนา ตรงกับวันเสาร์ ทำนายว่า ข้าวปลาจะแพง จะเกิดเพลิงกลางใจเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ข้าวจะตายฝอย น้ำจะน้อยกว่าทุกปี สมณชีพราหมณ์ จะร้อนใจนัก ผักปลาจะแพงแลฯ
          วันเถลิงศก ตรงกับวันอาทิตย์ ทำนายว่า พระมหากษัตริย์จะรุ่งเรือง ด้วยพระเดชานุภาพ จะมีชัยชนะแก่ศัตรูทั่วทิศาทั้งปวงแลฯ 

 คำทำนาย นางสงกรานต์ ปี 2554

          วันมหาสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ.2554 ตรงกับวันที่ 14 เมษายน เป็นวันพฤหัสบดี ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5 เวลา 13 นาฬิกา 25 นาที 25 วินาที และวันเถลิงศกตรงกับวันเสาร์ที่ 16 เมษายน เวลา 17 นาฬิกา 31 นาที 12 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1373 วันอาทิตย์เป็นโลกาวินาศ น้ำฝนปีนี้ วันพุธ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 600 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ผลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปถวี (ดิน) น้ำงามพอดี
          นางสงกรานต์ ประจำปี 2554 มีนามว่า "กิริณีเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่ว-งา พระหัตถ์ขวาทรงขอ พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จนั่งมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ ซึ่งจากคำทำนายค่อนไปทางร้ายมากกว่าดี
          ทั้งนี้ วันมหาสงกรานต์ 2554 ตรงกับวันพฤหัสบดี วันเนาตรงกับวันศุกร์ และวันเถลิงศกตรงกับวันเสาร์ รวมคำทำนายว่า จะเกิดเหตุเภทภัยต่าง ๆ ความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตาย แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แต่แม่หม้ายจะมีลาภ และบรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู
          ส่วนคำทำนายของล้านนา ระบุว่า ปีนี้ฝนจะตกเสมอต้นเสมอปลายตามฤดูกาล ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่จักมีอันตราย ช้างม้าวัวควายจักตายมากนัก ไพร่ราษฎรจักอยู่ดีมีสุข ขุนใหญ่ ปุโรหิต พระสงฆ์จักเป็นทุกข์ คนเกิดวันศุกร์มีเคราะห์ คนเกิดวันอาทิตย์มีโชค


 คำทำนาย นางสงกรานต์ ปี 2553

          วันมหาสงกรานต์ ปี พ.ศ.2553 ตรงกับวันพุธที่ 14 เมษายน ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 เวลา 07 นาฬิกา 19 นาที 19 วินาที นางสงกรานต์ทรงนามว่า "มณฑาเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนม เนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จยืนมาเหนือหลังคัสพะ (ลา) เป็นพาหนะ
          วันที่ 16 เมษายน เวลา 11 นาฬิกา 18 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1372 ปีนี้ วันอังคารเป็นธงชัย วันพฤหัสบดีเป็นอธิบดี วันจันทร์เป็นอุบาทว์ วันเสาร์เป็นโลกาวินาศ
          ปีนี้ วันอังคารเป็นอธิบดีฝน บันดาลฝนให้ตก 300 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 30 ห่า ตกในมหาสมุทร 60 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 90 ห่า ตกในเขาจักรวาล 120 ห่า นาคให้น้ำ 7 ตัว
          เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 5 ชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ (ด้วงกับแมลง) จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง
          เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีเตโช (ไฟ) น้ำน้อย
          คำทำนายโบราณ วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันพุธ วันเนาตรงกับวันพฤหัสบดี วันเถลิงศกตรงกับวันศุกร์ ทำนายว่า ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ผลไม้จะแพง พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก นางสงกรานต์ยืนมา จะทำให้เกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้
          สำหรับทางล้านนาก็มีคำพยากรณ์ว่า ถ้ามหาสงกรานต์ตรงกับวันพุธ ปีนั้นฝนบ่ตกทั่วเมือง หัวปีมีมาก กลางปีน้อยข้าวในนาจะได้ครึ่งเสียครึ่ง ของบริโภคจะแพง ขุนนางขุนเมืองจะตกต่ำ คนเกิดวันศุกร์มีเคราะห์ คนเกิดวันจันทร์และวันเสาร์มีโชค


 คำทำนาย นางสงกรานต์ ปี 2552

          ปีนี้สงกรานต์ไทยตรงกับปีฉลู เป็นมนุษย์ผู้ชายธาตุดิน วันที่ 14 เมษายนเป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันจันทร์ แรม 4 ค่ำ เดือน 5 เวลา 01 น.13 นาที 14 วินาที ทางสุริยคติปฏิทินสากลเป็นวันอังคาร
          นางสงกรานต์นามว่า โคราคะเทวีพาหุรัด ทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหารน้ำมัน พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังพยัคฆะหรือเสือเป็นพาหนะ
          วันที่ 16 เมษายน เวลา 05 น. 06 นาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1371
          ปีนี้วันเสาร์เป็นธงชัยวันพุธเป็นอธิบดีวันศุกร์เป็นอุบาทว์และโลกาวินาศ
          ปีนี้ วันจันทร์เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว
          เกณฑ์ธัญญาธัญหารได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในนาจะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ผลาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก

 คำทำนาย นางสงกรานต์ ปี 2551

          วันมหาสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13 เมษายน เป็นวันอาทิตย์ ขึ้น 8 ค่ำ  เดือน 5 เวลา 18 นาฬิกา 24 นาที นางสงกรานต์นาม "ทุงสะเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราค ภักษาหารอุทุมพร หรือผลมะเดื่อ พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จนั่งมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ
          วันที่ 15 เมษายน เวลา 22 นาฬิกา 53 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1370 ซึ่งปีนี้วันพุธธงชัย วันอังคารเช้าอธิบดี ตกบ่ายอุบาทว์ และศุกร์อุบาทว์ พฤหัสบดีโลกาวินาศ ดินฟ้าฝนอาทิตย์อธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหินพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 4 ตัว

          เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ 2 ชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลกึ่งเสียกึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณตกราศีวาโยหรือลม และน้ำน้อย
          ทำนายว่า พืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้งอกงามนัก วันจันทร์เป็นวันเนา มักจะเกิดความเจ็บไข้ต่าง ๆ เกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ วันอังคารเป็นวันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล ส่วนสงกรานต์ตามคติความเชื่อทางล้านนาทำนายว่า ปีนี้ข้าวหมากเกลือจักแพง คนจักเป็นพยาธิ ข้าศึกจะมีแก่บ้านเมือง หนอนแมลงกินพืชไร่

คำทำนาย นางสงกรานต์ ปี 2550

          วันมหาสงกรานต์ตรงวันเสาร์ที่ 14 เมษายน ปีกุน มนุษย์ผู้หญิง ธาตุน้ำ นพศก จุลศักราช 1369 ทรงจันทรคติ เป็น อธิกมาส ปกติวาร ทางสุริยคติ เป็นปกติสุรทิน
          นางสงกรานต์นามว่า มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว (ผักตบ) อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูรย์ เสด็จนั่งมาเหนือหลังนกยูงเป็นพาหนะ
          มหาวันสงกรานต์ วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2550 เวลา 12 นาฬิกา 36 นาที 37 วินาที ตรงกับเสาร์ แรม 12 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน นพศก จุลศักราช 1369 (เปลี่ยนจุลศักราช 1368 ในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2550 เวลา 16 นาฬิกา 40 นาที 48 วินาที)
          ปีนี้ วันอาทิตย์ เป็นวันธงชัย วันจันทร์ เป็นอธิบดี วันเสาร์ เป็นอุบาทว์ วันพุธ เป็นโลกาวินาศ วันเสาร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 6 ตัว
          เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 7 ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินา จะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี (ดิน) น้ำงามพอดี


 ความหมายของวันสงกรานต์ 

          คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง การเคลื่อนย้ายของดวงอาทิตย์จากราศีหนึ่งเข้าไปอีกราศีหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุก ๆ เดือน แต่ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีน เพื่อเข้าสู่ราศีเมษนั้น จะมีชื่อเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่า "มหาสงกรานต์" เนื่องจากเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามคติพราหมณ์ แต่เราจะเรียกกันเพียงสั้น ๆ ว่า"สงกรานต์" เท่านั้น และเมื่อนับทางสุริยคติ "วันสงกรานต์" จะอยู่ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุก ๆ ปี


 วันสงกรานต์ ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับวันสงกรานต์

           วันมหาสงกรานต์ หมายถึง การก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหม่ หรือที่เรียกว่า "ปีใหม่" และได้มีการกำหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น "วันมหาสงกรานต์"
          วันเนา หมายถึง วันที่ดวงอาทิตย์เข้ามาอยู่ในราศีเมษ ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งต้นปีใหม่ หรือ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ได้เข้าประจำที่แล้ว โดยมีการกำหนดให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็น "วันเนา"
          วันเถลิงศก หมายถึง วันขึ้นศก ซึ่งเป็นวันที่มีการเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ โดยวันขึ้นศกใหม่นั้น ได้กำหนดให้เป็นวันที่ 3 ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่าการก้าวขึ้นต้นปีนั้นเรียบร้อยดีไม่มีปัญหา 
          แต่อย่างไรก็ดี หากดูตามประกาศวันสงกรานต์ และตามการคำนวณตามหลักโหราศาสตร์จริง ๆ ก็จะมีการคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันบ้าง เช่น วันมหาสงกรานต์ อาจจะเป็นวันที่ 14 เมษายน แทนที่จะเป็นวันที่ 13 เมษายน ก็เป็นได้ ดังนั้น เพื่อให้จดจำได้ง่าย จึงกำหนดเรียกตามที่กล่าวมาในข้างต้น

ประวัติประเพณีวันสงกรานต์แต่ละภาค

ประเพณีสงกรานต์สมัยก่อนมีความเป็นมาอย่างไร วันนี้เรามีบทความเกี่ยวกับ ประวัติประเพณีวันสงกรานต์แต่ละภาคมาฝาก 

          ช่วงวันที่ 13-15 เมษายน เป็นช่วงเวลาที่ชาวไทย และชาวต่างชาติ ต่างหลั่งไหลเข้าไปในตัวเมืองของแต่ละจังหวัด เพื่อร่วมสนุกในเทศกาลปีใหม่ไทย หรือ วันสงกรานต์ แต่นอกจากกิจกรรมเพื่อความสนุกสนานแล้ว ชาวไทยส่วนใหญ่ยังคงยึดถือและปฏิบัติตามเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา ทว่าในแต่ละภาคจะมีความเชื่อ และรูปแบบของประเพณีที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมก็ ได้รวมประเพณีช่วงวันสงกรานต์ของแต่ละภาคมาฝากค่ะ
ประเพณีสงกรานต์ ประวัติประเพณีวันสงกรานต์แต่ละภาค


 ประเพณีสงกรานต์ภาคเหนือ

         เริ่มต้นด้วยกิจกรรมวันสงกรานต์ล้านนาในภาคเหนือ ที่เรียกว่า "ประเพณีปี๋ใหม่เมือง" กันเลยจ้า  ในวันที่ 13 เมษายน  "วันสังขานต์ล่อง" วันนี้ถือเป็นวันสิ้นสุดศักราชเก่าของชาวภาคเหนือ ซึ่งจะมีการจุดประทัดในช่วงเช้า เพราะมีความเชื่อแต่โบราณว่า เป็นการขับไล่สิ่งเลวร้ายในปีก่อนให้พ้นไป และในช่วงเย็นจะมีงานบุญขนาดใหญ่ นั่นคือการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองด้วย ในช่วงนี้จะมีทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ มารวมตัวกันอย่างหนาแน่น แต่ก็ได้ทั้งบุญและความสนุกสนานกันเลยทีเดียว จากนั้นในวันที่  14 เมษายน  ที่เรียกกันว่า "วันเนา"  หรือ "วันเน่า" จะเป็นวันที่ห้ามด่าทอ ว่าร้ายผู้อื่น ไม่เช่นนั้นจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี ส่วนในวันที่ 15 เมษายน "วันพญาวัน" หรือ "วันเถลิงศก" เป็นวันที่ชาวบ้านตื่นตั้งแต่ไก่โห่เพื่อไปทำบุญตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม จากนั้นจะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย พอถึงวันที่วันที่ 16 เมษายน "วันปากปี"  ทุกคนก็จะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆ และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอขมา โดยในวันที่  17 เมษายน  "วันปากเดือน"  ซึ่งเป็นวันสุดท้ายขอองเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะทำการปัดตัว เพื่อส่งเคราะห์ต่าง ๆ ออกไป เพื่อเป็นการปิดฉากประเพณีสงกรานต์ล้านนา
       
ประเพณีสงกรานต์ ประวัติประเพณีวันสงกรานต์แต่ละภาค

 ประเพณีสงกรานต์ภาคอีสาน 

          ต่อมา เรามาดูภาคอีสาน ที่เรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า"  หรือ "ตรุษสงกรานต์" กันบ้างดีกว่า ประเพณีพื้นบ้านของภาคอีสานจะค่อนข้างเรียบง่าย ส่วนใหญ่เน้นการอยู่กับครอบครัว แต่จะมีกิจกรรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่นกัน โดยชาวอีสานจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงาน จะมีพระสงฆ์ตีกลองโฮมเพื่อเป็นการเปิดศักราชเข้าสู่ปีใหม่ จากนั้นญาติโยมทั้งหลายจะไปรวมตัวกันที่ศาลาวัดต่าง ๆ เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมา จากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำและก่อกองทรายภายในวัด หากใครต้องการทำบุญปล่อยนก ปล่อยปลา หรือปล่อยสัตว์อื่น ๆ ก็ทำได้เช่นกันค่ะ

สงกรานต์
 ประเพณีสงกรานต์ภาคใต้ 

          ส่วนประเพณีสงกรานต์ในภาคใต้ ความเป็นมาจะค่อนข้างยาวสักเล็กน้อย เพราะทางภาคใต้จะมีความเชื่อที่แตกต่างจากภาคอื่น ๆ นั่นคือ ความเชื่อแบบดั้งเดิมที่ว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาแห่งการผลัดเปลี่ยนเทวดาผู้รักษาดวงชะตาบ้านเมือง พวกเขาจึงถือเอาวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์เป็น "วันส่งเจ้าเมืองเก่า" โดยจะมีการทำพิธีลอยเคราะห์ลงในแม่น้ำ และอธิษฐานขอให้ประสบโชคดีตลอดปีใหม่ จากนั้นในวันที่ 14 เมษายน หรือ "วันว่าง" ที่มีความเชื่อว่า ในวันนี้ยังไม่มีเทวดาคนใหม่มาคุ้มครองดูแลเมือง ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ชาวนครจะหยุดกิจการต่าง ๆ  แล้วหันหน้าไปทำบุญตักบาตรที่วัด สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำผู้อาวุโสแทน ต่อมา ในวันที่ 15 เมษายน ที่เรียกว่า "วันรับเจ้าเมืองใหม่"  ในวันนี้ บนสวรรค์จะมีเทวดาที่เป็นเจ้าเมืองใหม่ลงประจำการ ดังนั้นชาวเมืองจึงต้องต้อนรับเทวดาเจ้าเมืองคนใหม่ด้วยการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ เพื่อนำอาหารไปถวายพระที่วัด จากนั้นอาจจะไปรดน้ำผู้อาวุโสท่านที่ยังไม่ได้ไปรดน้ำใน "วันว่าง" เพื่อเป็นการปิดท้ายประเพณีสงกรานต์ของชาวภาคใต้

ประเพณีสงกรานต์ ประวัติประเพณีวันสงกรานต์แต่ละภาค
 ประเพณีสงกรานต์ภาคกลาง 

          และสุดท้ายคือก็มาถึงประเพณีวันสงกรานต์ในภาคกลางกันบ้าง  วันสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย ของภาคกลาง จะเริ่มขึ้นในวันที่ 13 เมษายน เรามักเรียกวันนี้ว่า "วันมหาสงกรานต์" ส่วนวันที่ 14 เรียกเป็น "วันกลาง" หรือ "วันเนา" และในวันที่ 15 ถือเป็นวัน "วันเถลิงศก"  โดยทั้ง 3 วันนี้ ชาวภาคกลางส่วนใหญ่จะประกอบพิธีทางศาสนา มีการทำบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ มีการสรงน้ำพระ มีการก่อพระเจดีย์ทรายภายในวัด มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และในบางจังหวัดจะมีพิธีแห่นางแมวด้วย นอกจากนี้ยังมีการการทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ เพื่อให้สิ่งสกปรกหมดไปพร้อมกับปีเก่า เพื่อเป็นการต้อนรับปีใหม่ไทย ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องนั่นเอง

 สงกรานต์ตามประเพณีที่แตกต่าง

            สงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุสองแผ่นดิน หรือสงกรานต์นครพนม รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย-ลาว ณ อ.เมือง และ อ.เรณูนคร จ.นครพนม ในงานจะมีการฮดสรง หรือสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
            สงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ หรือประเพณีสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ ณ เกาะสีชัง และเกาะขามใหญ่ จ.ชลบุรี ภายในงานมีกิจกรรมเช่น พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ พิธีกองข้าวบวงสรวง รดน้ำดำหัว การก่อพระเจดีย์ทราย การละเล่นพื้นบ้าน แข่งขันเรือกระทะ เรือชักกะเย่อ มวยตับจาก ปาลูกดอก แข่งขันตะกร้อลอดบ่วง การแสดงดนตรี และประเพณีอุ้มสาวลงน้ำ
            สงกรานต์นางดาน หรือเทศกาลมหาสงกรานต์เมืองนครศรีธรรมราช จัดขึ้น ณ สวนศรีธรรมาโศกราช สนามหน้าเมือง หอพระอิศวร สำหรับกิจกรรมภายในเทศกาลสงกรานต์เมืองนครนี้ จะมีมหกรรมขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง กิจกรรมนั่งรถชมเมือง เล่าเรื่องลิกอร์ นั่งสามล้อโบราณชมเมืองเก่า พิธีพุทธาภิเษกน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 6 แหล่ง จตุคามรุ่นสรงน้ำ 50 เป็นต้น

กิจกรรมและข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์

การเตรียมงาน
          วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าวันตรุษคือวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องตระเตรียมงานกันเป็นการใหญ่ จนมีคนที่พูดกันติดปากว่า "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมกันนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันเป็นพิเศษตามลำดับ ดังนี้... 
           1. เครื่องนุ่งห่ม 
          เพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างค่อนข้างจะพิถีพิถัน  

            2. ของทำบุญ            เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษของที่จะทำขนมพิเศษ 2 อย่าง ได้แก่ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวน หรือกะละแมในวันสงกรานต์ นอกจากจะทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้ว ยังแลกเปลี่ยนแจกกันในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวันสำคัญ  

            3. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง            เพื่อให้ดูเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอกให้สะอาดหมดจดโดยถือว่ากำจัดสิ่งสกปรกให้ สิ้นไปพร้อมกับปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง  

            4. สถานที่ทำบุญ            วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน นอกจากจะทำความสะอาดกุฎีที่อาศัยแล้วยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย และงานรื่นเริงต่าง ๆ ด้วย 
             ก่อนหน้านี้ เราได้ฉลองวันปีใหม่สากลกันมาแล้ว ตอนนี้ก็ใกล้จะถึงเทศกาลวันปีใหม่ของไทยแล้วนะคะ นั่นก็คือ เทศกาลสงกรานต์ นั้นเองค่ะ ในวันนี้ ลูกหลานที่แยกย้ายออกไปสร้างครอบครัวอยู่ที่ใดก็จะกลับบ้านมาพบปะ กราบไหว้บุพการี นอกจากนี้ในวันสงกรานต์ยังมีกิจกรรมมากมาย ที่ไม่ใช่เพียงแค่การสาดน้ำอย่างเดียวนะคะ วันนี้กระปุกดอทคอมจึงได้นำกิจกรรมและข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์ ที่เชื่อแน่ว่า หลายคนอาจยังไม่เคยทราบมาฝากกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น มาดูพร้อมกันเลยค่ะ
 การทำบุญ
          การทำบุญในวันสงกรานต์มีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

           1. พิธีหลวง หรือ พระราชพิธีสงกรานต์           วันที่ 15 เมษายน ในเวลาเช้า 10.30 น. พระสงฆ์ที่รับอาราธนามาเจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ ที่หอพระสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จหอพระบรมอัฐิที่หอพระธาตุมณเฑียร สรงน้ำพระ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนบุฃาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระสงฆ์จำนวน 67 รูป เท่าจำนวนพระบรมอัฐิ และพระอัฐิที่อาราธนาจากวัดที่เกี่ยวข้อง กับพระบรมอัฐิและพระอัฐิ เจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล 
          เสร็จแล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิ จากหอพระธาตุมณเฑียรเป็นกระบวนแห่ มีประโคมสังข์ แตร กลองชนะ ตั้งแต่เวลาเชิญออก จนกระทั่งถึงบนราชบัลลังก์นพปฏลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนราชสักการะพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ของพระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียน ถวายสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ทรงทอดผ้าคู่ (ถือผ้าขาว 2 ผืน นุ่งผืน 1 ห่มผืน 1) มีขวดน้ำหอม 1 ขวด พระสงฆ์นั่งสดับปกรณ์ตามลำดับวัดประจำพระบรมอัฐิ 

          เวลา 16.30 น. เสด็จสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธสัมพรรณี พระชัยหลังช้าง พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 เสด็จสรงน้ำพระคันธราษฎร์ สรงน้ำ พระโพธิ์ พระนิโครธ พระพุทธเจดีย์ทอง พระไตรปิฎกฉบับทองทึบ พระนาคที่วิหารขาวสดับปกรณ์ พระบรมอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระอัฐิเจ้านายต้นราชสกุลต่าง ๆ
          เปิดปราสาทพระเทพบิดรวันที 13, 14, 15, 16 เมษายน เพื่อให้ประชาชนถวายสักการะพระบรมรูปบูรพมหากษัตริยาธิราช 
          เมื่อก่อนการบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวัง มี 4 วัน คือวันที่ 13-16 เมษายน ปัจจุบันมีเฉพาะวันที่ 15 เมษายน วันเดียว ซึ่งในเช้าวันที่ 15 เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระ 150 รูป เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตรทีในพระบรมมหาราชวัง 
          เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระมหามณเฑียรในพระบรมมหาราชวัง 
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุลาลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียรทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 71 รูป เจริญพระพุทธมนต์การพระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้วทรงประเคนภัตตาหาร 
          เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จเจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิออก ประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตรและบนที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง 5 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระอัฐิ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ แล้วถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินประทับรถยนต์พระที่นั่ง ที่พระที่นั่งทวารเทเวศรรักษาเสด็จพระราชดำเนินกลับ 
          เวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูลรายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศ พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปถวายเป็นพุทธบูชาเจดียสถานต่างๆ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำปูชนียวัตถุตามเจดียสถานในพระอารามนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอพระนาก ทรงจุดธูปเทียนถวายสักการะพระอัฐิ 5 รูป สดับปกรณ์แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก 50 รูป สดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนูโมทนา ถวายดิเรก เป็นเสด็จการ  

            2. พิธีราษฎร์ 

              การทำบุญตักบาตรในวันสงกรานต์               การทำบุญในวันสงกรานต์อาจจะทำการตักบาตรทำบุญได้ 2 แห่ง คือ ที่วัดหรือในบริเวณงานที่จัดไว้แล้ว วิธีตักบาตร ใช้วิธีเรียงแถวและนิมนต์พระเดินตามลำดับ โดยชายตักบาตรด้วยข้าว หญิงตักบาตรด้วยของคาวหวาน ถ้าเต็มบาตรก็ถ่ายใส่ภาชนะอื่น และนิมนต์ท่านรับจนทั่ว เสร็จแล้วอาจนิมนต์ท่านฉัน ณ สถานที่จัดงาน หรือให้ท่านนำไปฉันที่วัดก็ได้ ในเวลาตักบาตรพระสงฆ์จะสวดถวายพร คือ พาหุง พอเสร็จก็ช่วยกันยกอาหารคาวหวานไปถวายพระ ขณะพระฉันจะมีการอ่านประกาศสงกรานต์กันในตอนนี้ บางคนก็อาจจะอยู่ฟังอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี 



 กิจกรรมที่ประชาชนทำในวันสงกรานต์
      
           การก่อเจดีย์ทราย 
              จะทำในวันใดวันหนึ่งของวันที่ 13-15 เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทรายมาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้างหรือถมพื้นที่เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด 
     
           การปล่อยนกปล่อยปลา
              เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ นิยมทำในวันสงกรานต์และไม่จำกัดว่าจะทำในวัดเท่านั้น 
      
           การสรงน้ำพระ               มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นศิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่อันเป็นเวลาที่อากาศร้อน 
         
           การรดน้ำผู้ใหญ่               เป็นเรื่องของการแสดงคารวะต่อผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้ร่วมพิธีควรนำผ้า 1 สำรับ คือ ผ้านุ่ง 1 ผืน ผ้าห่ม 1 ผืน ไปมอบให้ท่านพร้อมกับดอกไม้ธูปเทียน การรดน้ำผู้ใหญ่ดังกล่าวมานี้มักจะรดหรืออาบท่านจริง ๆ จึงต้องมีผ้าไปมอบให้ ปัจจุบันบางแห่งรดเฉพาะที่ฝ่ามือ โดยจะเอาน้ำหอมเจือในน้ำด้วย แต่ก็ยังคงมีผ้านุ่งห่ม 1 สำรับ และดอกไม้ธูปเทียนไปแสดงความคารวะ และขอพรท่านก็จะให้ศีลให้พรให้มีความสุขปีใหม่ คือตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นต้นไป
       
           การทำบุญอัฐิ               เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสุกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน การรื่นเริงจัดขึ้นเพื่อเชิ่อมความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นการอนุรักษ์ประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่นไว้ด้วย 
         
           การสาดน้ำ               เป็นการสนุกสนานรื่นเริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ คือ สาดน้ำกันโดยมากจะเริ่มต้นในวันสรงน้ำพระ แต่บางแห่งพอเริ่มสงกรานต์ ก็เริ่มสาดน้ำกันทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วใช้น้ำสะอาดมีน้ำอบน้ำหอม หรือแป้งหอมผสมบ้างก็ได้ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย 
        
           การแห่นางแมว
              บางแห่งอาจมีการแห่นางแมวเพื่อขอฝนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนานรื่นเริงเหมือนกัน แต่ก็หวังผลในทางเกษตรกรรมด้วย กล่าวคือถ้าเกิดฝนแล้งก็แห่นางแมวกันในช่วงวันทำบุญสงกรานต์ เช่นเดียวกัน

          อย่างไรก็ตามในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับประเพณีสงกรานต์ที่แตกต่างกันออกไป ก็สมควรให้ปฏิบัติไปตามนั้น เพื่อเป็นการเคารพภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ได้กลั่นกรองเลือกสรรแล้วว่า เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงขึ้นกับวิจารณญาณของเจ้าของวัฒนธรรมนั้นๆ โดยตรงที่จะเลือกรับหรือไม่รับสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม รวมทั้งสิ่งใหม่ๆ ที่แทรกเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง 

 สิ่งที่ได้จากการทำบุญสงกรานต์ 

            1. เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ 
            2. เป็นการชำระจิตใจ และร่างกายให้สะอาด 
            3. เป็นการรักษาประเพณีมาแต่เดิม 
            4. เป็นการสนุกสนานรื่นเริงในรอบปี และพักจากงานประจำชั่วคราว เพื่อจะไปพักผ่อนหย่อนใจ 
            5. เป็นการเตือนสติว่ามนุษย์นั้นผ่านไป 1 ปีแล้ว และในรอบปีที่ผ่านมาเราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง 
            6. เป็นการเตรียมตัวบวช ถ้าเป็นผู้ชายโดยเอาระยะเวลานี้บวชกัน เพราะหลังสงกรานต์ต้องเตรียมตัวทำนาแล้ว 
            7. เป็นการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือน ทั้งในและนอกบ้าน

ขอขอบคุณ
ที่มา: http://songkran.kapook.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น